การประเมินมูลค่าหุ้น

การประเมินมูลค่าหุ้น


เพื่อน ๆ ครับ พบกับ Stock Focus อีกแล้วนะครับ วันนี้เราจะมาพูดกันถึงหลักการที่สำคัญที่สุดในการลงทุนนะครับ ในการลงทุนของทุกคนในทุกตลาดเราว่านะ ทั่ว ๆ ไปก็คงจะคิดเหมือนกันใช่มั๊ย ว่าเงินต้นต้องไม่สูญ กำไรต้องไม่หาย ถ้าใช่ล่ะก็ เรามาดูกันดีกว่าว่าซื้อหุ้นยังไง ให้ขาดทุนได้น้อย ๆ กำไรได้เยอะ ๆ

โดยทั่วไปแล้ว เราอาจจะคุ้นเคยกับคนที่ “เล่นหุ้น” มากกว่าคนที่ “ลงทุน” แต่พอดีว่าเราน่ะเป็นคนส่วนน้อย เป็นพวกที่ “ลงทุน” ไม่ได้ “เล่นหุ้น” ซักเท่าไร ก็มีที่เคยลองมาบ้างแหละ แล้วก็เคยทั้งกำไรและขาดทุน แต่อยากจะบอกว่ามันคาดเดาได้ยากมาก แล้วเวลากำไรก็ไม่รู้ว่าทำไมกำไร จะให้ทำอย่างเดิมแล้วกำไรอีกก็ไม่รู้ว่าจะทำได้มั๊ย แล้วเวลาขาดทุนก็ไม่รู้อีกว่าทำไม รู้แต่ว่าซื้อหุ้นแล้วมันตก ขายไปก็ขาดทุน สรุปว่าทั้งกำไรทั้งขาดทุน เราไม่ได้เรียนรู้อะไรขึ้นมาเลยจากการ “เล่นหุ้น” แต่ถ้าเป็นการ “ลงทุน” แล้วล่ะก็ เราสามารถนำทั้งกำไรในแต่ละครั้ง และประสบการณ์ในการขาดทุน มาสอนตัวเราเองได้ และจะทำให้เรารอบคอบขึ้น รู้อะไร ๆมากขึ้นเสมอ ซึ่งเราว่ามันน่าจะดีกว่านะ ก็เลยลองเขียนมาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันดู

ถ้าจะว่าไปแล้วการลงทุนทุกอย่างมันก็คล้าย ๆ กันแหละ ถ้าเราผ่านไปเห็นตึกแถว หรือที่ดินบางแห่งคนที่เค้ามีความสามารถในด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็คงจะบอกได้ว่า ตึกแถวนั้น หรือที่แปลงนั้นมันควรจะมีราคาเท่าไรเค้าถึงจะซื้อ แล้วจะซื้อไปทำอะไรได้บ้าง หุ้นก็เหมือนกัน เราอยากจะบอกเพื่อน ๆ ว่าหุ้นของแต่ละบริษัทมันก็มีราคาในตัวของมันเองอยู่เหมือนกันนะครับ ถ้าหุ้นตัวไหนราคามันถูกเกินไปกว่าความเป็นจริง เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะต้องปรับตัวขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง และเช่นเดียวกันถ้าหุ้นตัวไหนราคามันแพงกว่าความเป็นจริงในที่สุดราคาของมันก็จะต้องปรับลดลงมาให้ใกล้กับความเป็นจริงเหมือนกัน ดังนั้นหน้าที่ของนักลงทุนก็คือ ต้องหาซื้อหุ้นที่ราคามันถูกกว่าความเป็นจริง ซึ่งข้อนี้เรายืนยันได้ว่ามันมีอยู่ตลอดเวลาแหละ หาให้เจอเถอะ

ที่นี้มาว่ากันเรื่องที่จะหาหุ้นให้เจอได้ยังไง ก็ให้ใช้ตะแกรงร่อนสิครับ แล้วจะไปหาตะแกรงมาจากไหนดีล่ะ อันนี้ก็คงจะแล้วแต่ศิลปะของแต่ละคนนะครับ เราเองน่ะส่วนมากใช้หนังสือพิมพ์ครับ แล้วก็บทวิเคราะห์ของบริษัท Broker แหละ สำหรับหนังสือพิมพ์ เราจะ Scan หาหุ้นที่ PER ต่ำ ๆ แล้วก็มาดูธุรกิจ มาดูตัวเลขทางการเงินประกอบ ส่วนบทวิเคราะห์ของ Broker นั้น เราอ่านเอาข้อมูลของกิจการครับ แล้วก็โครงสร้างรายได้ และแผนการในอนาคตของบริษัท ส่วนมากไม่ค่อยได้ใช้ข้อมูลราคาเป้าหมายของเค้าครับ ข้อมูลทางการเงินที่เรานำมาใช้ส่วนใหญ่ ได้มาจาก www.settrade.com ครับ ก็เท่าที่ดูจะเห็นได้ใช่มั๊ยครับเพื่อน ๆ ว่า การหาหุ้น แล้วก็หาข้อมูลมันไม่ได้ยากเท่าไรหรอก ที่ยากกว่าเห็นจะเป็นการประเมินมูลค่าแหละครับ

เพื่อน ๆ ที่เรียนบัญชีมา อาจจะพอมีความสามารถ “อ่านงบรู้ ดูงบเป็น” กันอยู่บ้างแล้ว แต่ว่าขออธิบายเรื่องนี้ไปด้วยก็แล้วกันเผื่อบางคนที่ไม่ได้เรียนบัญชีมาจะได้เข้าใจด้วย การดูงบการเงินนั้นมี 2 ส่วนหลัก ๆด้วยกัน ส่วนแรกก็คือ ฐานะการเงิน ส่วนที่ 2 คือ ผลการดำเนินงาน สำหรับฐานะการเงินของกิจการนั้นเราสามารถดูได้จาก งบดุล (Balance Sheet) ส่วนผลการดำเนินงานซึ่งจะประกาศทุก ๆ รอบ 3 เดือนสำหรับหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดบ้านเราทั้ง 2 ตลาดนั้น ดูได้จาก งบกำไรขาดทุน (Profit & Loss) ซึ่งตรงนี้เป็นด่านแรกที่สุดที่จะต้องผ่านให้ได้นะครับ จากงบการเงิน 2 ฉบับนี้ หุ้นที่เราจะแนะนำให้ซื้อ จะต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล เป็นบวก (และควรจะมากกว่าทุนที่ชำระแล้วด้วย) และ ผลการดำเนินงานมีกำไรนะครับ ถ้าตกข้อใดข้อหนึ่งแนะนำให้ตัดหุ้นตัวนั้นออกจากการพิจารณาลงทุนทันที ไม่มีข้อแม้หรือข้อต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะความเสี่ยงที่ว่า อาจจะทำให้เงินต้นของเราสูญเสียไปได้ ในกรณีที่เราดึงดันไปซื้อหุ้นที่มีฐานะการเงินไม่ดี หรือว่ามีผลการดำเนินงานขาดทุน จริงอยู่งบการเงินนั้นมันชื่อว่า “งบกำไรขาดทุน” แต่ขอย้ำว่าเราจะซื้อเฉพาะหุ้นที่มีงบกำไรเท่านั้น งบขาดทุนเราไม่ซื้อนะครับ

อ้อแล้วก็จะมีบริษัทบางประเภทนะครับ ที่งบดุลแสดงส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก แต่ว่ามีขาดทุนสะสม(ไม่มีกำไรสะสม แต่เป็นขาดทุนสะสมแทน) อย่างนี้ส่วนมากก็จะถูกคัดออกอีกเช่นกันครับ ถึงแม้จะมีบ้างบางกรณีที่อาจจะอนุญาตให้ซื้อได้ก็เป็นส่วนน้อยมากครับ เอาเป็นว่าในชั้นต้นนี้ให้ตัดทิ้งไปก่อนก็แล้วกัน ทีนี้เราก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า อะไรจะเป็นกันชนป้องกันการขาดทุนให้เราได้บ้าง สิ่งที่ผมแนะนำให้ดูอย่างแรกเลย คือเงินปันผลครับ ถ้ามี Marketing แนะนำให้เพื่อน ๆ ซื้อหุ้นอะไร แล้วเค้าบอกไม่ได้ว่าจะได้เงินปันผลเท่าไรถ้ายึดตามหลักการของ “เงินต้นไม่ให้สูญ กำไรไม่ให้หาย” แล้วก็ไม่เอาเหมือนกันนะครับ เราว่าอย่างน้อยที่สุดเงินปันผลตอบแทนน่าจะไม่ต่ำกว่า 5% จากราคาที่ซื้อถึงจะเรียกได้ว่าปลอดภัยครับ ส่วนตัวเลขอื่น ๆ นะครับก็ดูเหมือนว่า ตัวสำคัญ ๆ ที่เราใช้เป็นประจำจะเป็น PER ครับ ถ้าค่า PER สูงกว่า 10 ถือว่าสอบตกอีกเหมือนกันครับ ถ้าประมาณ 7 – 8 อันนี้รับไว้พิจารณา ส่วนถ้าหุ้นตัวไหนมีค่า PER ต่ำกว่า 5 ให้รีบไปค้นหาข้อมูลมาเพื่มเติมทันที่ เพราะว่าเป็นหุ้นที่เข้าข่ายให้เรานำมาพิจารณาซื้อได้

เมื่อได้ Short List หุ้นมาจำนวนหนึ่งแล้ว ก็ให้ไปพิจารณาดูธุรกิจว่าเค้าทำมาหากินอะไร ประเภทที่ว่า ซื้อหุ้นมาแล้วไม่รู้ว่าบริษัททำอะไรนี่ก็ไม่เอานะครับ เพื่อน ๆ จะไปเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่ไม่รู้ว่าบริษัททำมาหากินอะไร แล้วจะไปวิเคราะห์อะไรได้ล่ะครับ ทำไมกำไรจะรู้หรอ ทำไมขาดทุนจะรู้มั๊ย ดังนั้นเราต้องรู้จักธุรกิจของบริษัทด้วย เมื่อรู้แล้วเราก็จะวิเคราะห์ได้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัททำกำไรได้ดีเพราะอะไร และจะกำไรดีต่อไปหรือไม่ ถ้าตอบได้ว่าอย่างน้อยก็คงไม่แย่กว่าเดิมหรอก เงินปันผลก็คงไม่น้อยกว่าเดิมหรอก แล้วตัวเลขทางการเงินที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างดี อย่างนี้ก็น่าซื้อแล้วครับ ตะแกรงร่อนตามวิธีที่เราเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังมานี้ ทำให้เราคัดหุ้นในตลาดทิ้งไปได้ตั้งสี่ร้อยกว่าตัวแน่ะ แสดงว่าหุ้นดี ๆ ในบ้านเรามีไม่เยอะนักไง นี่ก็เป็นเหตุนึงที่ทำให้คนที่บอกว่าตัวเองถือหุ้นยาวแล้วยังติดหุ้นขาดทุนกันสาหัสชอบมาโวยวายว่าถือยาวยิ่งขาดทุน เล่นสั้นดีกว่า ก็ไปถืออะไรเข้าล่ะถึงได้ขาดทุน แต่เอาเถอะเรายืนยันว่า มีหุ้นที่ถือได้ยาว ๆ แบบสบายใจ บางวันขึ้นบางวันลง แต่ถ้ายาวจริง ๆ ราคาก็ขึ้น เงินปันผลก็ได้ กำไรก็เยอะ ถ้าเลือกถูกตัว อย่างนี้มาหัดเลือกหุ้นกันก่อนดีมั๊ย

เอาล่ะสิตอนนี้เริ่มพอมีหุ้นในใจกันบ้างแล้วใช่มั๊ยครับเพื่อน ๆ หลังจากร่อนมาหลายตะแกรง เรามาดูกันดีกว่าว่าจะวัดมูลค่าหุ้นกันยังไงดี เอาเป็นว่าโดยประมาณแล้ว หุ้นที่ลักษณะดีดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด น่าจะมีมูลค่าตามราคาตลาดไม่ต่ำกว่า 10 เท่าของเงินปันผลที่จ่าย หรือที่คาดว่าจะจ่าย สำหรับผลการดำเนินงานงวดที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นถ้าเราคาดหมายว่าหุ้นที่เราเล็งอยู่นี้จะจ่ายเงินปันผลประมาณ 0.50 บาท ล่ะก็ วิธีนี้ก็จะได้มูลค่าหุ้นไม่ต่ำกว่า 5 บาท กับอีกวิธีนึงให้ประมาณค่า PER จากกำไรที่เราประมาณได้สำหรับผลประกอบการของปีที่กำลังดำเนินงานอยู่ เช่น ถ้าเราประมาณว่าจะกำไร 1 บาท ที่ค่า PER ประมาณ 7 – 8 เราก็จะได้ว่าหุ้นตัวนี้ควรจะมีมูลค่าประมาณ 7 – 8 บาทเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราก็ได้ค่าประมาณขั้นต่ำว่า หุ้นนี้ไม่น่าจะราคาต่ำกว่า 5 บาท และมีโอกาสขึ้นไปได้ถึง 7 – 8 บาท ด้วย ถ้าสมมุติราคาตลาดอยูประมาณ 4.60 – 4.70 บาทเราก็จะเห็นได้ว่า หุ้นตัวนี้มีราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริงที่มันควรจะเป็น เราก็เลือกลงทุนได้นะครับ โอกาสที่จะทำให้ เงินต้นไม่สูญ กำไรไม่หาย ก็มาถึงแล้วล่ะครับ ขอย้ำอีกครั้งก่อนจะจบนะครับเพื่อน ๆ ว่าการลงทุนวิธีที่เราแนะนำนี้ ไม่ได้บอกว่าเป็นวิธีการที่จะทำกำไรได้มาก ในระยะเวลาอันสั้นนะครับ แต่เป็นวิธีการที่จะทำให้กำไรที่ได้น่าจะยั่งยืน และเป็นการป้องกันการขาดทุนได้ในระดับที่ดีทีเดียว ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงจะหมดไป แต่เป็นการจำกัดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการทำกำไรครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อน ๆ คงพอจะได้วิธีการเลือกซื้อหุ้นอีกหนึ่งวิธีไว้เป็นทางเลือกในการลงทุนนะครับ

ขอให้ทุกคนโชคดีในการลงทุน และ ขอให้เพื่อน ๆ ทุกคนจง “มั่งคั่ง อย่างมั่นคง” นะครับ

สิ่งเล็กๆที่เรียกว่าหุ้น
#การลงทุนในหุ้น #หุ้น #การซื้อหุ้น #ประเมินมูลค่าหุ้น

Similar Posts