วิเคราะห์ธุรกิจและหุ้นแบบ Higher High, Lower low


วิเคราะห์ธุรกิจและหุ้นแบบ Higher High, Lower low


จั่วหัวมาแบบนี้ อย่าพึ่งนึกถึงการใช้เทคนิคคอลนะครับ แต่ใช่เลยใช้หลักการมองแบบเดียวกัน สำหรับคนที่ทำงานเรื่องการวิเคราะห์ยอดขายหรือวิเคราะห์ตัวเลขอยู่แล้วอาจจะพอเห็นภาพและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ดีครับ แต่ที่จะมาพูดถึงนั้นเป็นเรื่องการวิเคราะห์ธุรกิจต่างๆหาก ไม่ใช่การวิเคราะห์แบบเทคนิคนะครับ

การวิเคราะห์ยอดขายนั้นเชื่อหรือไม่ว่าก็ใช้หลักการเดียวกันกับทางเทคนิค หรือว่าเทคนิคอลก็ใช้หลักการเดียวกันกับการวิเคราะห์ธุรกิจนะครับ เรื่องแบรนด์และยอดขายนั้นเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันและก็ยากที่จะแยกออกจากกัน แบรนด์ที่ดีสินค้าที่ดี ทำให้เกิดยอดขายที่ดีตามมา วันนี้เลยมีตัวอย่าง 3 แบรนด์เป็นแบรนด์สมมติขึ้นมาคือแบรนด์ A,B, และ C เผื่อว่านักลงทุนที่ตามติดผลประกอบการอยู่ทุกๆไตรมาสจะได้เอาไปวิเคราะห์เอาเองได้ ทั้ง 3 แบรนด์นั้นอยู่ในธุรกิจเดียวกันและแข่งขันกันในตลาดโดยตรงจะได้เห็นภาพมากขึ้นนะครับ

ในธุรกิจนี้ ก็จะมี seasonal effect ซึ่งจะเป็นช่วง Q2/Q4 ดังนั้นทั้งอุตสาหกรรมก็จะใช้ช่วงนี้ทำโปรโมชั่นต่างๆ เมื่อแบรนด์หนึ่งทำอีกแบรนด์หนึ่งก็จะทำด้วยเช่นกันไม่งั้นก็จะเสียส่วนแบ่งการตลาดไป

จากรูปจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 แบรนด์นั้นทำพร้อมกันแต่ตัวเลขที่ได้กลับไม่เหมือนกัน

แบรนด์ A นั้นทำโปรโมชั่นใน Q2/Q4 และทุกครั้งที่ทำโปรโมชั่นก็ได้ยอดขายเยอะขึ้นและเมื่อหมดโปรโมชั่นยอดขายก็ลดลงมาแต่ก็อยู่ในระดับที่มากกว่าก่อนทำโปรโมชั่น แบบนี้เรียกว่า Higher High หรือว่าแบรนด์แข็งแรง เพราะอะไรหรอครับ แบรนด์นี้ปกติเป็นแบรนด์ที่ดี เมื่อมีการทำโปรโมชั่นทำให้คนที่เคยลังเลจะใช้ก็หันมาลองใช้ หรือแม้แต่คนที่ใช้แบรนด์คู่แข่งอยู่ก็หันมาลองใช้และเมื่อลองใช้แล้วก็ติดใจ ทำให้เมื่อหมดโปรโมชั่นแล้วก็ยังหันมาซื้อแบรนด์นี้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้บางส่วนจะหยุดใช้ไปเพราะหมดโปรโมชั่น แบรนด์เหล่านี้สามารถใช้เงินลงทุนในการตลาดได้คุ้มมากเพราะไม่แค่สามารถเพิ่มยอดขายในช่วงสั้นๆได้ แต่กลับได้ลูกค้าประจำมาเพิ่มด้วย ทำให้ระยะยาวนั้นฐานรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นบันไดไปเรื่อยๆ

แบรนด์ B นั้นทำโปรโมชั่นใน Q2/Q4 เช่นกันและก็ได้ยอดขายเพิ่มขึ้นมาเพื่อทำโปรโมชั่นแต่พอหมดโปรโมชั่นก็กลับมาได้ยอดขายเท่าเดิม เรียกได้ว่าแบรนด์ไม่ได้โดดเด่นและขายได้แต่ลูกค้าประจำ แม้ตอนมีโปรโมชั่นจะสามารถดึงลูกค้าใหม่เข้ามาได้ แต่พอหมดโปรโมชั่นก็แยกย้ายกลับไปใช้แบรนด์เดิม แบรนด์เหล่านี้จำเป็นต้องทุ่มเงินบ่อยๆเพื่อดึงยอดขายให้สูงและยังไม่มีจุดเด่นที่มากพอให้คนมาลองใช้แล้วติดกับแบรนด์นี้

แบรนด์ C นั้นทำโปรโมชั่นใน Q2/Q4 เช่นเดียวกันแต่ โถน่าสงสารที่สุด อุตส่าห์ทำโปรโมชั่นเหมือนกัน ทุ่มเงินไปพอๆกัน ถึงจะได้ลูกค้ามาเพิ่มแต่ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมากเท่าไร แต่พอหมดโปรโมชั่นลูกค้ากลับหายไปอีกด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์สมบูรณ์แบบโดยไม่มีจุดแข็งไม่มี competitive advantage ที่ดึงดูดมากพอและไม่สามารถทำให้ลูกค้าติดใจได้เลย เราจะเห็นได้ว่ายอดขายจะมียอดขายต่ำลงๆเรื่อยๆ หากธรุกิจคุณหรือหุ้นที่คุณเลือกนั้นมีลักษณะอาการแบบนี้ต้องบอกได้เลยว่าในระยะยาวนั้นเหนื่อยแน่นอนยิ่งทุ่มเงินลงทุนไปเท่าไรก็ยิ่งแย่ลง ๆเรื่อยๆ

ด้วยภาพประมาณนี้ก็จะเห็นความเข้มแข็งของแต่ละแบรนด์ได้ อย่าลืมนะครับว่าแบรนด์ไม่ใช่แค่ชื่อยี่ห้อเท่านั้น แบรนด์ที่ดีจะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้ไม่ยากและแบรนด์ที่ไม่ดีก็จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นในระยะยาวเป็นเรื่องที่ยากและสุดท้ายก็จะกระทบกับกำไร และ ราคาหุ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้หุ้นและธุรกิจที่คุณถืออยู่เป็นแบรนด์ A, B, หรือ C ครับ

#ลงทุนในหุ้น #วิเคราะห์หุ้น #สิ่งเล็กๆที่เรียกว่าหุ้น

พบกับบทความดีๆได้ที่ www.thaistockfocus.com

Similar Posts