9 วิธีเลือกกองทุนอย่างง่ายๆด้วยตัวเอง



9 วิธีเลือกกองทุนอย่างง่ายๆด้วยตัวเอง


กองทุนรวมเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุน และกองทุนรวมบางประเภทสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่น LTF/RMF วันนี้ทางสิ่งเล็กๆที่เรียกว่าหุ้น เลยอยากหาวิธีการลงทุนอีกช่องทางนอกเหนือจากการลงทุนในหุ้นด้วยตัวเองมาให้ดูกันครับ เผื่อว่า ยังไม่อยากลงทุนในหุ้น แต่ก็อยากลงทุน เรามาดูกันดีกว่าว่ามีวิธีเลือกอย่างไรบ้าง

ประเภทกองทุน: ประเภทของกองทุนเช่น หุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ ทองคำ หรือแบบผสม และแต่ละแบบก็จะมีความเสี่ยง และผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป กองทุนที่ลงทุนในหุ้นก็จะต้องลงทุนในหุ้นตามสัดส่วนที่ระบุไว้เช่น 60% 70% ก็ต้องเลือกว่า แต่ละกองสัดส่วนอย่างไรบ้าง (ส่วนตัวผมชอบกองทุนหุ้น เพราะมีความคล้ายกับหุ้นอยู่มาก)

ผลงานเฉลี่ยในอดีต: ถึงแม้ผลงานในอดีตจะไม่ได้การันตีผลงานในอนาคต แต่ก็เป็นเรื่องดีๆ หากในอดีตกองทุนนี้สามารถทำกำไรได้ดี และหากดีกว่าก็คือการที่ทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขึ้นๆลงๆเป็นฟันปลา ก็จะเห็นอะไรบางอย่างว่า การบริหารกองทุนสามารถทำให้กองทุนรอดพ้นจากวิกฤติต่างๆได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร

ค่าบริหารจัดการ/ค่าธรรมเนียม: เป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกซ่อนไว้ ในกองทุน บางครั้งจะมีค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมตอนสับเปลี่ยนกอง หรือว่า ขาใด ขาหนึ่ง และ อาจจะมีค่าบริหารจัดการกองทุนในแต่ละปี โดยไม่ได้อิงจากผลประกอบการ เรียกได้ว่าเกือบจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กับกองทุนและผู้จัดการกองทุน ส่วนนี้อาจจะต้องดูดีๆ บางกองทุนผลงานทำได้ไม่ดี แต่ค่าบริหารจัดการ ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับผลงาน

ลักษณะการลงทุนของแต่ละกองทุน: สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละอย่างเป็นอย่างไรบ้าง หุ้นกี่% เงินฝากกี่% สินทรัพย์แต่ละอย่างกี่ % และหากลงทุนในหุ้น ก็ต้องดูด้วยว่า ลงในหุ้นกลุ่มอะไรบ้าง เช่น ลงในธนาคารกี่% พลังงานกี่% การดูรายละเอียดเหล่านี้ก็ทำให้เรารู้ได้ว่า กองทุนมีแนวโน้มเป็นอย่างไร หากเราพอจะสามารถวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจได้บ้าง เราก็จะเลือกกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่เรามีมุมมองเป็นบวกกับกลุ่มธุรกิจนั้นเยอะกว่า

ผู้จัดการกองทุน: จอมทัพผู้คุมบังเหียนชะตากรรมของกองทุนๆนั้น ถึงแม้ว่าจะมีหลายๆบุคคลที่ต้องเกี่ยวข้องกับการปรับพอร์ตหรือซื้อขายหุ้นในกองทุน แต่ผู้จัดการกองทุนนั้นต้องถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจ ลองหาประวัติของผู้จัดการกองทุนเหล่านั้นว่ามีประวัติอย่างไรกันบ้าง

บริษัทจัดการกองทุน: อันนี้มีผลบ้าง ในเรื่องของชื่อเสียงว่าบริษัทจัดการกองทุนไหนมักจะมีกองทุนที่ทำผลงานได้ดีๆและก็จะได้ดีติดๆกันหลายๆกองทุน และทำผลงานได้ดีติดต่อกันหลายปี แต่ส่วนที่สำคัญกว่าคือ ความมั่นคงของกองทุนครับว่า กองล้มยาก และเงินของเราจะมั่นคงในกองทุนครับ

ความเสี่ยงของกองทุน: ความเสี่ยงของกองทุนอาจจะวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ทาง Morningstar ก็จะมีการจัด Rating ความเสี่ยงเอาไว้เป็น reference ให้เราได้ลองเปรียบเทียบกันดูครับ

NAV: พูดง่ายๆก็คือราคาของกองทุนเฉลี่ยต่อหน่วยครับ ถูกแพงก็ต้องเทียบกับผลดำเนินงาน คล้ายๆกับการดู PE Ratio ในหุ้น ดูว่าราคานี้ผลประกอบการแบบนี้ NAV ควรเป็นเท่าไร ทางที่ดีถ้าเทียบกันแล้ว PE ไม่สูงมากยิ่งดีครับ

วินัย:อันนี้เป็นวินัยส่วนตัวของแต่ละคน วินัยเรื่องแรกคือการออมเงินซื้อกองทุนเพื่อลงทุนระยะยาวให้เป็นระบบ ทำทุกเดือน ทำให้เป็นนิสัย (DCA เดี๋ยวหากมีเวลาจะทยอยเขียนเกี่ยวกับ DCA นะครับ) และวินัยอีกอย่างคือ การซื้อๆขายๆกองทุน ซึ่งนั่นไม่ใช่หน้าที่เรา ก็คล้ายๆกันกับหุ้นครับ เราอุตส่าห์มาซื้อกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนฝีมือดีๆเป็นผู้ชำนาญการโดยเฉพาะแต่เราก็ยังไปแย่งงานผู้จัดการกองทุนอีก

เป็นยังไงบ้างครับสำหรับวิธีการเลือกกองทุนเบื้องต้นกับบทความนี้ แต่ท้ายสุดสุดท้ายก็ต้องไปดูหนังสือชี้ชวน ซึ่งจะมีข้อมูลทั้งหมดที่ผมได้บอกไป ทำการเรียนรู้กองทุนต่างๆ หลายๆแบบ เอามาเปรียบเทียบกันดูแล้วดูว่ากองไหนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรครับ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กันบ้างนะครับและขอให้โชคดีกับการลงทุนในกองทุนรวมกันถ้วนหน้าครับ

สามารถลงทะเบียนและสมัครบริการการวางแผนการลงทุนและการเงินได้ฟรี 

Similar Posts