มาวางแผนการเงินการลงทุนของเรากัน


มาวางแผนการเงินการลงทุนของเรากัน


ขอปูพื้นกันก่อน สำหรับคนที่กำลังจะเริ่มลงทุนกัน หรือว่า ลงทุนกันไปแล้วก็ตามแต่ อย่างนึงที่ต้องทำเสมอ คือการวาดแผนการลงทุนของเราเอาไว้ และเพื่อจะได้เป็นการเช็คไปด้วยว่า การลงทุนแต่ละอย่างนั้น เราลงทุนเพื่ออะไร ตอบโจทย์อะไรกัน ผมเลยลองทำเป็นแผนภูมิขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น

ผมได้แบ่งเป็น 5 ขั้น แต่ใครจะไปแบ่งมากขึ้นก็ได้นะครับ แล้วแต่ชอบ แต่อย่าลืมว่ายิ่งแบ่งมากเท่าไร เราก็ต้องให้น้ำหนักความสำคัญแต่ละขั้นไปด้วยนะครับ ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า แต่ละขั้นคืออะไร

1. ดูจากล่างสุดขึ้นไปนะครับ ขั้นแรกเลยก็จะเป็นในส่วนที่เรียกว่า protection หรือการคุ้มครองเงินและเงินของเราไม่ให้ไหลรั่วออกไปกับเรื่องที่หากเกิดแล้วจะต้องเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้ก็จะได้แก่ การเจ็บไข้ได้ป่วย การเสียชีวิต หรือแม้แต่ทรัพย์สินของเราไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถ ธุรกิจ ร้านค้า ในกรณีหากเกิด ไฟไหม้ หรือน้ำท่วมก็แล้วแต่ จะทำให้เราจำเป็นต้องควักเงินเป็นจำนวนมาก เพื่อรักษาโรคภัย หรือแม้แต่ซ่อมทรัพย์สินต่างๆ ดังนั้นสินค้าทางการเงินที่ช่วยในขั้นนี้คือ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัยรถยนต์ ประกันบ้าน อาคารและทรัพย์สิน และมีเอาไว้ให้พอเพียงสำหรับภัยที่อาจจะเกิดขึ้นก็พอ เราไม่สามารถได้กำไรหรือรวยจาก สินค้าการเงินในขั้นนี้ไว้ มีไว้อุ่นใจแล้วค่าใช้จ่ายต่อปีก็จะไม่สูงมากด้วย

2. ส่วนที่สองเป็นเรื่องของการบริหารหนี้ หรือพูดง่ายๆ หากมีหนี้สินอยู่ยิ่งถ้ามีเป็นหนี้สิน เงินกู้หรือบัตรเครดิต ถ้าเคลียร์ถ้าปิดได้เลยยิ่งดี เพราะดอกเบี้ยเหล่านี้สูงมาก ปีนึง 10-20% ยิ่งถ้าเป็นเงินกู้นอกระบบด้วย ต้องรีบหยุดเลือดให้หยุดเร็วที่สุด เคลียร์ได้เคลียร์ไปก่อน แต่สำหรับหนี้ที่อยู่อาศัยหรือบ้าน หรือหนี้สำหรับรถยนต์นั้น สามารถบริหารได้ด้วยเงินรายได้แต่ละเดือนว่าจะแบ่งชำระอย่างไรดี แต่การที่รีบปิดหนี้บ้านนั้นได้ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะดอกเบี้ยทบต้นทุกวัน ส่วนรถยนต์นั้น การเร่งปิดหนี้ไม่ได้ช่วยให้ดอกเบี้ยลดลงเท่าไร เพราะว่าเค้าคิดเฉลี่ยไว้ไปแล้ว ถึงคุณจะปิดตั้งแต่ปีที่ 2 คุณก็ยังจ่ายดอกเบี้ยเท่าเดิม (ถ้าเป็นอย่างงั้นเอาไปโปะบ้านดีกว่านะ)

3. มาถึงส่วนที่ 3 ส่วนกลาง เป็นส่วนที่มีความสำคัญเช่นกัน เพราะ ส่วนนี้เป็นเงินส่วนฉุกเฉิน ที่เราต้องสามารถนำเงินก้อนนี้มาใช้ได้ทันทีถึงแม้จะไม่มีรายได้ อย่างน้อย 6 เดือน แต่ก็ควรอยู่ระหว่าง 6 – 12 เดือน เช่นว่า ปกติมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินเอาไว้อย่างน้อย 120,000 – 240,000 บาท เพราะเผื่อเหตุการณ์ที่ธุรกิจล่ม หรือถูกไล่ออก หรือจำเป็นต้องลาออกมา อย่างน้อยระหว่างที่ลาออกมาก็จะมีรายได้ให้พอตั้งตัวได้ และเงินออมสำหรับก้อนนี้ ควรจะอยู่ในอะไรก็ได้ที่เปลี่ยนเป็นเงินได้เร็วและมูลค่าไม่ตก ไม่ได้คาดหวังดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเท่าไร แต่ต้องมีสภาพคล่องสูงมากๆ เงินฝากออมทรัพย์เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ไม่ใช่เงินฝากประจำที่ถอนไม่ได้ หรือการลงทุนในอะไรก็แล้วแต่ที่มีความผันผวนในเรื่องราคา ก็ไม่เหมาะ เพราะมูลค่าอาจจะมีการลดได้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ ดังนั้นแนะนำเป็นเงินฝาก

4. ผ่านไป 3 ข้อ แล้ว การวางแผนการเงินของเรา ยังไม่ได้ทำให้เงินเรางอกเลย แต่มาถึงข้อที่ 4 เรียกว่าการวางแผนระยะยาวเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงิน อันนี้สำหรับคนผ่านด่าน 3 ด่านมาแล้ว ด่านนี้เป็นด่านที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นตัวกำหนดว่าคุณจะได้ใช้ชีวิตตามเป้หมายของคุณหรือไม่ เป้าหมายที่ว่าอาจจะเป็น เกษียณเมื่ออายุ xx ปี ด้วยเงิน xx บาท, การส่งลูกเรียนต่อต่างประเทศในอีก xx ปี ที่ประเทศ xx, หรือการเตรียมความพร้อมเรื่องแต่งงาน, การซื้อของอุปกรณ์ ซื้อรถต่างๆ (รวมถึงอาจจะเป็นเงินดาวน์ก็ได้), การซื้อมือถือ คอมพิวเตอร์ แทบเล็ตที่จำเป็นต้องมีการออมเงินและใช้เงินสดในการซื้อ, หรือจะเป็นการวางแผนสำหรับการศึกษาของลูกๆก็เป็นได้ ทั้งหลายทั้งปวง เราจำเป็นต้องวางเป้าไว้ พร้อมคำนวนเงินที่เราต้องมีคร่าวๆ และ นำเงินออมที่เราออมไว้ มาทำให้งอกเงยซะ ซึ่งการลงทุนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกลงทุนแบบไหน กองทุน หุ้น อสังหา ทองคำ ค่าเงิน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เราสามารถลงทุนระยะยาวได้หลายๆปี โดยไม่ร้อนเงิน เพราะว่าการลงทุนนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาและหากลงทุนได้ถูกต้อง การปล่อยให้เงินงอกเงย เช่นเดียวกับ ดอกเบี้ยทบต้น จะให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีมากๆ

5. มาถึงข้อสุดท้าย หากใครผ่าน ข้อ 4 มาได้ ข้อ 5 ก็จะเป็นเรื่องเกินความจำเป็น แต่ก็หากอยากได้ก็ไม่มีปัญหา เป็นการลงทุนหรือแม้แต่การเก็งกำไรเพื่อให้รวย การใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ที่สุด และด้วยเป้าหมาย คือ ความร่ำรวย เช่นว่า คุณจำเป็นต้องมีเงิน 2 ล้านสำหรับตลอดชีวิตและการเกษียณ แต่ว่า อยากได้ 100 ล้าน หลังจากวางแผนในข้อที่ 4 แล้วคุณก็ตั้งเป้าและทำมันให้ได้ในข้อนี้ เป็นเหมือน ภูเขาเอเวอร์เรสที่ใครหลายๆคนอยากขึ้นไปพิชิตซักครั้ง แต่ไม่ได้อยากไปอยู่บนยอดดอยอย่างนั้นหรอก (ถึงแม้หลายคนจะอยู่ยอดดอยกันตอนนี้ 55) แต่นั่นแหล่ะ ข้อนี้เป็นการปลดล็อคความอยากส่วนตัวล้วนๆ ทำได้ก็ถือเป็นกำไรชีวิต ทำไม่ได้คุณก็ได้ทุกอย่างตามเป้าหมายตามข้อ 4 แล้ว

แต่ก็อย่างที่บอก ใครจะตั้งเป้าแบบไหน วางไว้กี่ขั้นก็สามารถทำได้หมดนะครับตามแต่สมควรและสภาพ ไม่มีใครวางแผนให้ล้มเหลว แต่ความล้มเหลวหลายๆครั้งเกิดจากการไม่วางแผน มีไว้เป็นพิมพ์เขียว ดีกว่าไม่มีเป็นไหนๆนะครับ แล้วว่างๆ เสาร์ อาทิตย์ ก็ลองวางแผนให้ตัวเองกันครับเพื่ออนาคตของคุณและของครอบครัว และเมื่อมีเป้าหมายชัด การลงทุนจะเป็นเรื่องสนุกครับ ขอให้โชคดีกันถ้วนหน้านะครับ

สิ่งเล็กๆที่เรียกว่าหุ้น

สามารถลงทะเบียนและสมัครบริการการวางแผนการลงทุนและการเงินได้ฟรี 

Similar Posts