15 วิธีประหยัดเงินง่ายๆ คุณเองก็ทำได้
15 วิธีประหยัดเงินง่ายๆ คุณเองก็ทำได้
ในเมื่อยุคนี้เป็นยุคหาเงินยากแต่ใช้ง่าย เงินในกระเป๋าเราเลยไม่ค่อยเหลือเท่าไร จะใช้จะจ่ายอะไรทีก็ติดขัดไปหมด แต่วันนี้สิ่งเล็กๆที่เรียกว่าหุ้น เอาเทคนิคดีๆสำหรับการออมเงินมาฝากกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กันนะครับ
1.มีกระปุกหลายใบ (บัญชีธนาคารก็ได้) สำหรับเป้าหมายแต่ละอย่าง: แยก บัญชีธนาคารออกไปเลยสำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละเรื่อง บัญชีท่องเที่ยว บัญชีช้อปปิ้ง บัญชีซื้อบ้าน บัญชีซื้อรถ บัญชีประจำวัน แล้วถ้าอยากแบ่งย่อยๆไปอีกก็ทำได้ แต่อาจจะวุ่นวายหน่อย เช่น บัญชีไปยุโรป บัญชีไปญี่ปุ่น วิธีแบบนี้คุณก็แค่นำเงินออมแต่ละเดือนมาหยอดๆใส่แต่ละบัญชีไว้ เพื่อจะได้รู้ว่าเป้าหมายแต่ละอย่างไปถึงไหนแล้ว (สำหรับคนเป้าหมายเยอะ ก็อย่าพึ่งท้อ หยอดๆไปเรื่อยๆ อดทนๆเดี๋ยวก็เต็ม)
2.จดบันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมด: ค่าใช้จ่ายทั้งหมด แยกเป็นหมวดหมู่ ทำเสมือนเราเป็นนักบัญชี แต่จดไว้ว่า ค่าเดินทางเท่าไร ค่าอาหารเท่าไร ค่าที่พักเท่าไร กินเลี้ยงเท่าไร กินเหล้า สูบบุหรี่ กินกาแฟมากน้อยแค่ไหน จดบันทึกเอาไว้ และทุกๆเดือนก็นำมาดู บางทีค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยก็เป็นค่าใช้จ่ายก้อนโตได้ และการทำแบบนี้ยังทำให้เห็นภาพด้วยว่า คุณเสียเงินไปกับอะไรมากที่สุด และก็จะสามารถแก้ปัญหานั้นได้
3.ทำรายการซื้อของ: ทุกครั้งไปที่ห้างซื้อของ ซื้อของใช้ในบ้านของใช้ส่วนตัว จดรายการไปก่อนทุกครั้ง ไม่งั้นคุณจะซื้อไปเรื่อย อันนี้ก็อยากได้ อันนั้นก็น่าใช้ สรุปมาเหงื่อแตกตอนจ่ายเงิน
4.ลดของฟุ่มเฟือย จำกัดงบการช้อปปิ้ง: ถ้าของอันไหนต้องซื้อก็ต้องซื้อ แต่ว่าให้จำกัดงบการช้อปปิ้งเอาไว้ อันไหนที่เกินความจำเป็นก็อาจจะตัดใจไม่ซื้อ เลือกเฉพาะของที่จำเป็นจริงๆ แล้วส่วนของที่เคยมีที่บ้านถ้าไม่ได้ใช้แล้วก็ขายเก็บเป็นเงินขึ้นมาได้บางส่วน
5.วางแผนค่าใช้จ่ายประจำปีล่วงหน้า: ค่าใช้จ่ายที่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็น ค่าเทอมลูก ค่าประกันบ้าน ประกันรถ หรือประกันชีวิตเรา ค่าส่วนกลางหมู่บ้านคอนโด ค่าเรียนพิเศษลูก เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่พอคาดเดาล่วงหน้าได้ว่ามีประมาณเท่าไร เราก็หยอดกระปุกไว้รอเลย แต่ฝากธนาคารไว้ดีกว่า อย่างน้อยระหว่างรอจ่ายก็ยังได้ดอกเบี้ยบ้าง เราต้องเก็บล่วงหน้าไว้ ไม่ใช่ว่าเดือนหน้าลูกต้องจ่ายค่าเทอมก็เอาทีวีไปจำนำ โดยให้ถูกต้อง คุณต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้าเช่น ค่าเทอมลูกปีละ 20,000 บาท ปีนี้พึ่งจ่ายไป จะไปจ่ายอีกทีก็ปีหน้า ก็เก็บเดือนละ 1,700 (20000/12) เก็บไปทุกเดือนพอครบปีก็จ่ายค่าเทอมพอดี ไม่ต้องเอาทีวีไปจำนำ
6.บัตรเครดิต ใช้แล้วดี: แต่ห้ามใช้เกินเงินในบัญชีหรือห้ามติดหนี้บัตรเครดิต บัตรเครดิตเหล่านี้เวลารูดบัตรจะได้แต้ม เราสามารถสะสมแต้มกับรายจ่ายที่เราจำเป็นต้องจ่ายอยู่แล้วเช่น จ่ายค่าไฟค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน ซื้อทีวีตู้เย็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรก็แล้วแต่ และเผลอๆได้ผ่อน ได้ราคาถูกกว่าจ่ายราคาเต็มด้วย
7.โปรโมชั่นวันธรรมดา: วันธรรมดาร้านค้าต่างๆมักจะมีราคาพิเศษ เพราะว่าคนจะน้อย เช่น ตั๋วหนังวันพุธ S&P ราคาขนมปังเบเกอรี่ต่างๆ จะลดราคาพิเศษ ลองเปลี่ยนพฤติกรรมจากดูหนังเสาร์อาทิตย์มาดูหนังวันพุธบ้าง (ตั๋วเหลือ 100 บาท) ก็จะประหยัดเงินในกระเป๋าไปเยอะเลย
8.ไม่ใช้เหรียญ: อันนี้หมายถึงว่า หากเราเหลือเหรียญในแต่ละวัน ก็เก็บเหรียญเหล่านี้ไปทุกๆวัน พอหมดอาทิตย์พอหมดเดือนก็นำไปฝากธนาคาร คุณจะรู้เลยว่าเหรียญบาทสองบาทเนี่ย พอรวมกันทุกๆวันก็เยอะ และอีกอย่างนึง มันเป็นเชิงจิตวิทยาเล็กๆคือว่า คนมักไม่ชอบแตกแบงค์เท่าไร พอเมื่อคุณไม่มีเหรียญในมือ คุณก็จะตัดใจไม่ซื้อของบางอย่าง จนกว่ามันจะสำคัญจริงๆ
9.ทำงาน freelance เพิ่มเติม: หากทำงานหารายได้เพิ่มไปกับงานประจำ หรือสำหรับคุณแม่/คุณพ่อที่ไม่ได้ทำงาน ก็จะเป็นรายได้เพิ่มเติมได้ ส่วนว่าควรทำอะไรก็ต้องกลับมามองตัวเราเองว่าถนัดอะไร เดี๋ยวนี้อินเตอร์เน็ตเป็นส่วนช่วยให้ทำงานหลายๆอย่างอยู่กับบ้านได้อย่างสบาย
10.ซื้อของที่จำเป็นตอนลดราคา: ของที่จำเป็นหลายๆอย่างมีช่วงเวลา SALE หากไม่ถึงกับต้องซื้อ ณ เวลานั้น หากรอได้ก็รอจนกว่าของนั้นจะมีเทศกาลลดราคา (เหมือนตลาดหุ้นแหล่ะ เดี๋ยวก็ SALE แต่ช่วงนี้ SALE บ่อย) เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็จะช่วงลดราคา เสื้อผ้าก็ตามฤดู เหล่านี้หากเราสามารถรอได้เราก็จะได้ของทีเราอยากได้ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม
11.ถ้าอยากได้ของไหนจริงๆ อย่าพึ่งซื้อ ลองกลับบ้านก่อน: เคยมั้ยครับที่อยากได้ของอะไรมากๆ แต่ยังไม่ซื้อ พอกลับมาบ้านกลับรู้สึกไม่อยากได้ซะละ ลองทำแบบนี้หลายๆครั้งดูนะครับ หากคุณไปดูแล้วอยากได้ กลับมาก็ยังอยากได้ ไปดูอีกทีก็ยังอยากได้ แบบนี้แปลว่าน่าจะมีเหตุผลในการซื้อจริงๆแล้วละครับ แต่เชื่อมั้ยครับหลายๆคนพอเดินออกจากจุดนั้นกลับบ้านได้กลับไม่รู้สึกอยากได้ของนั้นๆแล้ว นั่นแปลว่ามันเป็นการแย้งกันระหว่างอารมณ์และเหตุผล
12.ผ่อนบ้านเป็นรายอาทิตย์แทน: ยกตัวอย่างว่าหากเราผ่อนบ้านเดือนละ 4000 บาท ก็เท่ากับว่า อาทิตย์ละ 1000 บาท หากคุณผ่อนเป็นอาทิตย์ คุณจะปิดหนี้บ้านได้เร็วขึ้นและจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง ทำไมน่ะเหรอ สมมติว่าคุณผ่อนเดือนละ 4000 บาท ปีละ 48,000 บาท แต่ถ้าคุณเก็บเงินอาทิตย์ละ 1000 บาท คุณจะเก็บได้ 52,000 บาท (มี 52 อาทิตย์) เป็นการบังคับตัวเองเพิ่มทางอ้อมเพื่อลดหนี้ให้เร็วขึ้น
13.ลงทุน ลงทุน ลงทุน: เงินออมอย่าให้อยู่นิ่งๆ ต้องทำให้เกิดมูลค่าสูงสุด ดังนั้นเอาไปลงทุนซะ ลงทุนในหุ้น กองทุน อะไรก็ได้ ที่เราถนัดและได้ผลตอบแทนดีสู้กับเงินเฟ้อได้
14.ลดหย่อนภาษี: เงินภาษีที่เราจ่ายเกินไป เราก็หาทางเอาภาษีเราคืนมาไม่ว่าจะเป็นจากการลดหย่อน หรือว่าเครดิตภาษี หรือการวางแผนภาษีต่างๆให้เงินเรากลับคืนมาหาเรา ไม่ได้โกงภาษีนะ อันนี้ทำถูกต้อง 100%
15.แอบใช้ wifi ข้างบ้าน: อันนี้ล้อเล่นครับ
#สิ่งเล็กๆที่เรียกว่าหุ้น #ออมเงิน #หุ้น #ภาษี
พบกับบทความดีๆได้ที่ www.thaistockfocus.com ทุกเรื่องการเงินและการลงทุน